Sunday, August 21, 2005

6 ปีปฎิรูปการศึกษา

ผลจากการติดตามการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 6 ปี เนื่องในวาระครบรอบ 6 ปีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งนำเสนอผลการประเมินความก้าวหน้าการปฏิรูปการศึกษาโดย 3 หน่วยงานหลัก อันประกอบด้วย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และกลุ่มผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่สรุปผลไปในแนวทางสอดรับกันว่า "ยังย่ำอยู่กับที่"
เป็นผลลัพธ์ที่ออกมาชนิดไม่ได้สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับผู้คนที่ติดตามความคืบหน้าในการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเท่าใดนัก เพราะต่างรับรู้รับทราบกันมาโดยตลอดถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้น และต่างเคยตั้งความหวังกับรัฐมนตรีว่าการศธ. คนแล้วคนเล่า กระทั่งมาถึงคนล่าสุดคือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง
ทั้งนี้ สำหรับผลการประเมินของ สกศ. ระบุชัดเจนในการประเมินผลทั้ง 5 ด้าน
1.การปฏิรูปด้านสิทธิและโอกาสทางการศึกษา มีแนวโน้มดีขึ้น แต่เป็นไปในอัตราปกติ ไม่ใช่อัตราเร่งตามที่ควรจะเป็น สังเกตจากที่รัฐบาลตั้งเป้าให้ประชาชนทุกคนมีการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษา แต่ผลการดำเนินงานพบว่าจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 0.2 เท่านั้น ดังนั้น การจะให้จำนวนปีการศึกษาโดยเฉลี่ยของประชากรเป็น 9.5 ปี ในปี 2551 ตามนโยบายรัฐบาล ยังจะต้องเร่งดำเนินการในอัตราเร่งกว่าปกติอย่างมาก
2.การปฏิรูปด้านการเรียนรู้ พบว่าจากค่าเฉลี่ยของผลการสอบระดับชาติระดับ ป.6 ระดับ ม.3 และระดับ ม.6 รวมถึงคะแนนเฉลี่ยผลการสอบ TOFEL ผลสัมฤทธิ์ยังต่ำ ความสามารถทางการคิดคำนวณและการคิดวิเคราะห์ยังต้องปรับปรุง สาเหตุเพราะหลักสูตรยังไม่ชัดเจน ไม่เชื่อมโยง ครูยังกังวลกับการสอนเนื้อหาให้ครบ ในขณะที่กระบวนการเรียนที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการคิดวิเคราะห์กลับถูกลดความสำคัญลง อีกทั้งความยืดหยุ่นหลากหลายของหลักสูตรเพื่อตอบสนองความแตกต่างของผู้เรียน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษยังเกิดขึ้นน้อย
3.การปฏิรูปด้านการผลิตและพัฒนาครู ยังไม่ชัดเจน ยังไม่มีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยระบบกระบวนการผลิตและวางแผนพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา จึงส่งผลให้การดำเนินงานไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
4.การปฏิรูปด้านการบริหารจัดการ ในระดับส่วนกลางยังไม่ลงตัวในการจัดโครงสร้างองค์กรบางหน่วยงาน เช่น ในส่วนของการศึกษาเอกชน การศึกษานอกโรงเรียน ส่งผลกระทบถึงภารกิจในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และการแบ่งภารกิจของหน่วยงานส่วนกลางบางส่วนยังไม่เอื้อต่อการดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ กลไกลประสานงานระหว่างหน่วยนโยบายกับหน่วยปฏิบัติยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ทำให้การประสานงานและการช่วยเหลือสถานศึกษา รวมถึงความใกล้ชิดกับชุมชนยังมีน้อยกว่าที่ผ่านมา ทั้งยังไม่ลงตัวในการบรรจุคนลงกับงานตามเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่เขตในเมือง นอกจากนี้ ส่วนกลางกระจายอำนาจให้แก่โรงเรียนยังไม่เต็มที่ สถานศึกษาจึงยังขาดความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ
5.การปฏิรูปด้านการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา ขององค์กรต่างๆ ยังมีน้อยมาก โดยระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเพียงร้อยละ 16 ในปี 2547 ระดับอุดมศึกษา ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเพียงร้อยละ 20 ในปี 2547 ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีส่วนร่วมร้อยละ 10.88 ในปี 2547 ที่สำคัญประชาชนทั่วไปยังไม่รู้จักการศึกษารูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จนมีผลให้เกิดกรณีมีผู้ล่อลวงนักเรียนและผู้ปกครอง
ในผลการประเมินของ สมศ. เป็นผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยได้ประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา 17,562 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 49.1 ของสถานศึกษาทั่วประเทศ พบว่าการจัดการเรียนการสอนของครูที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ยังมีคุณภาพอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 39.2 ของสถานศึกษาทั้งหมด การจัดกิจกรรมที่กระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ มีคุณภาพอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 13.5 และครูสามารถนำผลการประเมินมาปรับการเรียนและเปลี่ยนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพเพียงร้อยละ 21.6 ของสถานศึกษาทั้งหมด
การประเมินคุณภาพทางด้านผู้เรียนพบว่า ยังมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับต่ำมากในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ ร้อยละ 2.5 ของสถานศึกษาทั้งหมด วิทยาศาสตร์ ร้อยละ 3.3 สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ร้อยละ 3.5 ภาษาไทย ร้อยละ 3.8 ศิลปะร้อยละ 6.2 สุขศึกษาและพลศึกษา ร้อยละ 14.5 การงานอาชีพและเทคโนโลยี ร้อยละ 18.5 และวิชาภาษาต่างประเทศ ร้อยละ 47.6 โดยเฉพาะความสามารถของผู้เรียนในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ และความคิดสร้างสรรค์ มีคุณภาพระดับดีเพียงร้อยละ 11.1 และการมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพระดับดีเพียงร้อยละ 26.5 ของสถานศึกษาทั้งหมด
ส่วนผลการประเมินของผู้ตรวจราชการ ศธ. พบว่าในด้านโครงสร้างการบริหารการศึกษาในส่วนกลาง ยังขาดการประสานเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ ส่วนภูมิภาคพบว่าผู้แทนกระทรวงในจังหวัดยังไม่ชัดเจน การกระจายหรือมอบอำนาจไปที่เขตพื้นที่การศึกษายังไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่สำคัญครูจำนวนมากยังสอนแบบเดิม ขาดความรู้ในเนื้อหาวิชาและทักษะการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะครูในโรงเรียนขนาดเล็กขาดโอกาสพัฒนามาก เพราะไม่สามารถทิ้งห้องเรียนได้ ด้านระบบการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลยังไม่เข้มแข็ง และยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1305

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home