Wednesday, September 15, 2004

สำรวจพบข้าราชการไทยมีทักษะไอซีทีต่ำกว่ามาตรฐาน

สำรวจพบข้าราชการไทยมีทักษะไอซีทีต่ำกว่ามาตรฐาน
กรุงเทพฯ 14 ก.ย.- ผลสำรวจพบข้าราชาการไทยส่วนใหญ่ขาดทักษะการใช้ไอซีที ชี้เป็นอุปสรรคต่อโครงการอี-กัฟเวอร์เมนท์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีในองค์กรยังขาดการโปรโมทอย่างถูกช่องทาง ทำให้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเอง

คณะนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ผลการศึกษาแนวทางพัฒนาความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของข้าราชการไทย พบว่าทักษะการใช้ไอซีทีของข้าราชการไทยยังต่ำกว่าระดับที่ส่วนราชการต้องการ โดยเฉพาะทักษะทางด้านการใช้โปรแกรมฐานข้อมูล (Database) โปรแกรมการนำเสนองาน (Presentation) ทักษะไอซีทีด้านข้อมูลข่าวสาร (ICT Information Skills) และทักษะการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐาน (Basic ICT Skills) เช่น การแก้ปัญหา การดูแลรักษาคอมพิวเตอร์ และการรักษาความปลอดภัย (Security) โดยพบว่ามีเพียงทักษะด้านการใช้ไมโครซอฟท์เวิร์ดเท่านั้นที่มีระดับสูงน่าพอใจ จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการปฏิรูประบบทำงานใหม่ของราชการให้ต้องมีการใช้คอมพิวเตอร์ ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสนองนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-กัฟเวอร์เมนท์

ทั้งนี้ คณะวิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามข้าราชการไทยในระดับผู้ใช้คอมพิวเตอร์จำนวน 1,900 ชุด จากนั้นใช้ข้อมูลจากประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนอ้างอิง เมื่อประมวลผล ซึ่งยังทำให้พบว่าข้าราชการไทยส่วนใหญ่ยังขาดแม้แต่ทักษะการใช้อีเมล โดยส่วนใหญ่มีเพียงทักษะแค่การรับอีเมลเท่านั้น ส่วนการส่งเมลที่ต้องแนบไฟล์ยังต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานด้วยระบบออนไลน์ของราชการไทยในอนาคต

นอกจากนี้ คณะวิจัยยังได้สำรวจทักษะของบุคลาการด้านไอซีทีของหน่วยราชการไทย พบว่าร้อยละ 80 ของบุคลากรด้านนี้ต้องทำงานสนับสนุนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในองค์กร ส่วนการพัฒนาไอซีทีเองนั้น ทำเพียงแค่การปรับปรุงงานที่ได้จากการว่างจ้าง (เอาท์ซอร์ส) ให้น่าสนใจขึ้นเท่านั้น และพบว่าบุคลากรไอซีที 1 คน ต้องทำงานหลากหลายชนิดในแต่ละวัน ในขณะที่งานด้านดูแลและพัฒนาเว็บไซต์นั้นถือว่าเป็นงานที่อยู่ในระดับน่าพึงพอใจของบุคลากรด้านนี้ ซึ่งพวกเขาต่างมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาที่ทำให้บุคลากรด้านไอซีทีในหน่วยราชการพัฒนาได้ช้า ประกอบด้วย ค่าตอบแทนและความก้าวหน้าไม่จูงใจ การทำงานหลากหลายชนิดในแต่ละวันทำให้รู้สึกท้อแท้ และการเอาท์ซอร์สมากขึ้นทำให้ข้าราชการขาดการพัฒนาความรู้ อีกทั้งยังพบว่าบุคลากรที่มีความสามารถด้านไอซีทีบางส่วน ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่โดยตรง ดังนั้น จึงไม่ได้ปรับการประเมินผลงานตามจริง ซึ่งคณะวิจัยได้เสนอแนะว่าหน่วยงานต่าง ๆ ควรโปรโมทบุคลากรด้านไอซีทีให้ถูกต้องกับตำแหน่ง และเมื่อมีระดับการทำงานที่สูงขึ้น ควรเปิดโอกาสให้ย้ายหน่วยงานไปสู่ระดับบริหารได้

ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าวอยู่ภายใต้การว่าจ้างโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค โดยมีจุดประสงค์ที่จะนำมาพัฒนาและปรับปรุงการทำงานด้านไอซีทีของข้าราชการไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น. –สำนักข่าวไทย





15 กันยายน 2547

Monday, September 06, 2004

ทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาตร์และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

รายงานผลการไปทัศนศึกษาโครงการเรียนรู้สู่โลกกว้างศูนย์เครือข่าย หนองไผ่-โนนสำราญ

ข้าพเจ้า นางสาวประนอม จงจิตต์ และนางสาวนงลักษณ์ รักษ์มณี เดินทางไปร่วมทัศนศึกษาตามโครงการเรียนรู้สู่โลกกว้างศูนย์เครือข่าย หนองไผ่-โนนสำราญ จุดที่ 1 ที่ทางศูนย์เครือข่าย หนองไผ่ – โนนสำราญ นำนักเรียนเข้าเยี่ยมชมทัศนศึกษา คือ อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอยุธยา

รูปที่ 1 คณะทัศนศึกษากำลังรับฟังการบรรยายของ
อาจารย์จากสถาบันราชภัฎอยุธยา


รูปที่ 2 คณะครู – อาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนหนองแหนดอนกู่

รูปที่ 4 – 5 ตัวแทนของโรงเรียนหนองไผ่วิทยานุสรณ์กับสถานที่ต่าง ๆ ที่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา





เมื่อเสร็จสิ้นจากการทัศนศึกษาที่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาแล้ว ศูนย์เครือข่ายก็นำนักเรียนไปทัศนศึกษาต่อยังจุดที่ 2 คือ พิพิธภัณฑ์ วิทยาศาสตร์ ( Science Museum ) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ( อพวช. ) National Science Museum ( N S M ) โดยทาง อพวช. ได้นำนักเรียนเข้าเยี่ยมชมที่ตึกลูกเต๋า โดยมีคำขวัญว่า เรียนรู้วิทยาศาสตร์ในบรรยากาศที่แปลกใหม่ ทันสมัยเพลิดเพลินกับการทดลอง ค้นพบด้วยตนเอง โดยภายในตึกลูกเต๋า ประกอบด้วยส่วนที่แสดงนิทรรศการต่าง ๆ ดังนี้
ชั้นที่ 1 ส่วนต้อนรับแนะนำการเข้าชม รู้จักนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกสาขาต่าง ๆ ท่องโลกอินเทอร์เน็ตและนิทรรศการหมุนเวียน
ชั้นที่ 2 รากฐานของวิทยาศาสตร์ ประวัติการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ วิสัยทัศน์ของนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกและโลกที่เปราะบาง
ชั้นที่ 3 วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ค้นพบและเรียนรู้ด้วยตนเองในฐานปฏิบัติการไฟฟ้า แม่เหล็ก ความร้อน แสง เสียง แรง และการเคลื่อนที่ คณิตศาสตร์และพลังงาน
ชั้นที่ 4 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย ลักษณะทางภูมิอากาศ ธรณีวิทยา นิเวศวิทยา การผลิตด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการก่อสร้าง
ชั้นที่ 5 วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน เรียนรู้ร่างกาย และสุขภาพ การคมนาคม สิ่งแวดล้อม บ้าน สำนักงาน และวิสัยทัศน์ต่ออนาคต
ชั้นที่ 6 เทคโนโลยีภูมิปัญญาไทยในงานหัตถศิลป์ ประเภทงานแกะสลัก จักสาน โลหะ เครื่องปั้นดินเผา เส้นใยและสิ่งทอ
ตึกลุกเต๋าเป็นส่วนที่ 1 ที่นักเรียนเข้าเยี่ยมชม จากนั้น นักเรียนก็เข้าไปเรียนรู้ที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา นักเรียนได้ตื่นตาตื่นใจกับเทคนิคด้านการจัดนิทรรศการรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย สัมผัสและเข้าใจลึกซึ้งกับความหลากหลายทางธรรมชาติของประเทศไทยเป็นครั้งแรก ศึกษาการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต เรียนรู้วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ค้นพบความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน สนุกกับกิจกรรมด้านธรรมชาติวิทยา พร้อมการแสดงทางวิทยาศาสตร์และสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากมาย
รูปที่ 6 นักเรียนกำลังศึกษา ทำความรู้จักกับลูซี่ ญาติสนิทของเราที่พลัดพรากกันมากกว่า 3 ล้านปี



รูปที่ 7 - 8 นิทรรศการต่าง ๆ ภายในตึกลูกเต๋า















รูปที่ 9 – 12 เยี่ยมชมนิทรรศการต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา







วันหน้าจะPost รูปมาให้ดูนะคะ (ขอไปแต่งรูปให้สวยน้อยลงก่อนค่ะ)


*****************************************